Accessibility Tools

ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสระบุรี  Saraburi Juvenile and Family Court

การบริการ
คำถามที่ถูกถามบ่อย
เกี่ยวกับศาลยุติธรรม
ข้อมูลทั่วไป
ความเป็นมาของศาลยุติธรรม

    ระบบศาลของไทยเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดีให้แก่ประชาชน และมีวิวัฒนาการโดยได้รับอิทธิพลแนวความคิดจาก “พระธรรมศาสตร์” เรื่อยมา จนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีการตั้งศาลขึ้นประจำหน่วยงานต่างๆ เพื่อพิจารณาพิพากษาคดี
ต่างพระเนตรพระกรรณและนำเอากฎหมายของกรุงศรีอยุธยามาปรับปรุงและบัญญัติขึ้นใหม่ เรียกว่า "กฎหมายตราสามดวง"

    ศาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีอยู่มากมายหลายศาลกระจายกันอยู่ตามกระทรวงกรมต่าง ๆ และมีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีต่างพระเนตรพระกรรณแทนพระมหากษัตริย์ ต่อมาเมื่อบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น มีการติดต่อกับชาวต่างชาติลัทธิชาวตะวันตกได้แผ่ขยายเข้ามาทำให้ระบบการศาลไทยมีการเปลี่ยนแปลง มิฉะนั้นอาจเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับชาติตะวันตกได้ จึงมีการปฏิรูประบบการศาลไทยขึ้นใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีบทบาทในการวางรากฐานระบบการศาลยุติธรรมโดยได้รวมศาลที่กระจัดกระจายอยู่ตามกระทรวงกรมต่างๆ ให้มารวมไว้ในที่แห่งเดียวกัน เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีดำเนินไปด้วยความรวดเร็วถูกต้องเหมาะสมไม่ทำให้ราษฎรเดือดร้อน
    และในโอกาสที่กรุงเทพมหานครมีอายุครบ 100 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 21 เมษายน 2425 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทางขบวนพยุหยาตรามาวางศิลาก่อพระฤกษ์อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรม และทรงโปรดฯให้จารึกพระราชปรารภในการจัดตั้งศาลยุติธรรมไว้ในแผ่นเงิน ซึ่งเรียกว่า"หิรัญบัตร" มีความกว้าง 9.5 ซ.ม. ยาว 37.2 ซ.ม. จำนวน 4 แผ่น ฝังอยู่ใต้อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรมบนแผ่นเงินจารึกด้วยอักษรไทยที่สวยงาม และทรงคุณค่ามาก แสดงให้เห็นถึงพระบรมราโชบายในการปกครองแผ่นดินว่ามีพระราชประสงค์ให้ตั้งศาลขึ้นเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดอรรถคดี
    ทรงเล็งเห็นว่าบ้านเมืองจะอยู่ด้วยความสงบสุขร่มเย็นต้องอาศัยการศาลเป็นสำคัญ จึงทรงจัดระบบกฎหมายและระเบียบทางการศาลขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตก โดยมีกรมหลวงพิชิตปรีชากร และพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขกฎหมายและปฏิรูประบบการศาลยุติธรรมให้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประะเทศ
    ศาลจึงเป็นสถาบันที่ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้แก่ประชาชนสืบมาตราบเท่าทุกวันนี้ และในโอกาสที่กรุงเทพมหานครครบรอบ 220 ปี ซึ่งตรงกับศาลยุติธรรมครบรอบ 120 ปี ในปี พ.ศ. 2545 สำนักงานศาลยุติธรรมจึงร่วมกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่มีต่อศาลยุติธรรม จึงถือเอา นที่ 21 เมษายนของทุกปี
เป็น"วันศาลยุติธรรม" 
    ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2478 ได้มีการประกาศใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรมแบ่งแยกงานศาลยุติธรรมออกต่างหากจากกันเป็นสองฝ่าย คืองานธุรการและงานตุลาการ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบงานธุรการ ส่วนงานตุลาการ คือการพิจารณาพิพากษา เป็นอำนาจของตุลาการโดยเฉพาะ

    นับแต่ตั้งกระทรวงยุติธรรมทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานธุรการของศาลยุติธรรมมาได้ 100 ปีเศษ จึงได้เกิดแนวความคิดที่จะแยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้พ้นจากข้อระแวงสงสัยว่าศาลยุติธรรมอาจถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหารและไม่มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี

    จนกระทั่งได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 แยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม บัญญัติให้
ศาลยุติธรรมมีหน่วยงานธุรการของศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระ ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 5 บัญญัติให้มีสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2543 จึงถือว่าศาลยุติธรรมแยกออกจากกระทรวงยุติธรรมนับแต่นั้นเป็นต้นมา

บทบาทของศาลยุติธรรม

บทบาทภารกิจของสำนักงานศาลยุติธรรม มีดังนี้

๑) กำหนดนโยบายการบริหารด้านบุคลากร งบประมาณและแผนงานให้เป็นไปตามหลักการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี (Good Governance)

๒) ดำเนินการด้านเลขานุการของคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) และคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.)

๓) สรรหาอัตรากำลังข้าราชการตุลาการและธุรการ พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพและทักษะอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

๔) ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อพัฒนากฎหมายและระบบงานของศาลยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล

๕) ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กำหนดตัวชี้วัดประสิทธิผลและมูลค่าผลงานต่อหน่วย (Unit Cost)

๖) ประสานงานกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง

ศาลเยาวชนและครอบครัว
อำนาจของศาล
คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว

1)  คดีอาญาที่กล่าวหาว่าเด็ก (อายุไม่เกิน 15 ปี ) หรือเยาวชน (อายุไม่เกิน 18 ปี ) กระทำความผิด (นับอายุวันกระทำความผิด)
2)  คดีอาญาที่ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีผู้ใหญ่กระทำความผิดโอนมาตามกฎหมาย (อายุไม่เกิน 20 ปี แต่มีสภาพร่างกาย จิตใจ สติปัญญาเป็นเด็กหรือเยาวชน)
3)  คดีครอบครัว เช่น คดีหย่า หรือเรียกค่าทดแทนจากชายชู้หรือหญิงชู้
4)  คดีคุ้มครองสวัสดิภาพ คือ คดีที่ร้องขอให้คุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว หรือกรณีมีการปฏิบัติต่อเด็กโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
5)  คดีอื่นที่กฎหมายบัญญัติ เช่น คดีคุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์

คดีแพ่งที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว

คดีแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว มีดังนี้ 
ขอรับรองบุตร,  ขอให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ, หย่า, 
แบ่งสินสมรส, อำนาจปกครองบุตร, ขอจัดการทรัพย์สินแทนบุคคลไร้ความสามารถ ฯลฯ (ประมวลแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว)

คดีมีข้อพิพาท
ฟ้องหย่า

ทำเป็นคำฟ้องเสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล โดยเตรียมเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับตัวโจทก์และจำเลย และพยานหลักฐานเกี่ยวกับเหตุในการฟ้อง เช่น หลักฐานเกี่ยวกับการมีชู้ของคู่สมรส

ยื่นคำร้อง/คำฟ้องตั้งต้นคดีแพ่ง

- สามารถเข้าใช้งานระบบ Cios โดยต้องดำเนินการลงทะเบียนใช้งานระบบและลงทะเบียนความเกี่ยวข้องในคดีในระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) สามารถศึกษาขั้นตอนที่กำหนดไว้บนหน้าจอระบบโดยเลือก “คู่มือการใช้งานระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) (สำหรับทนาย/คู่ความ)
- ยื่นคำร้อง/คำฟ้องได้ ณ ศาลเยาวชนและครอบครัว

เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้วจะต้องทำอย่างไร

1) ต้องยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลา (ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหมายเรียกหรือภายใน 30 วัน กรณีปิดหมายนับแต่วันที่ปิดหมาย) การยื่นคำให้การควรมีทนายความทำคำให้การยื่นต่อศาล
2) ตอบรับเข้าร่วมไกล่เกลี่ยหรือโทรศัพท์ติดต่อศูนย์ไกล่เกลี่ย เพื่อกำหนดนัดไกล่เกลี่ย หากคู่ความตกลงกันได้คดีจะเสร็จสิ้นไม่ต้องมาศาลอีก
3) หากแต่งตั้งทนายความเพื่อทำคำให้การภายในกำหนดเวลาไม่ทัน ให้ยื่นคำร้องต่อศาลขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การออกไปก่อน

คดีไม่มีข้อพิพาท
การขอเป็นบุตรของผู้ตาย ขอรับเงินประกันสังคมของบิดา (ผู้ตาย) แต่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันและต่อมาบิดาตาย

ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลหรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนา
- ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรมีอายุเกิน 15 ปี ต้องยื่นคำร้องด้วยตนเอง
- ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรอายุไม่เกิน 15 ปี ต้องให้มารดาของผู้เยาว์ยื่นคำร้องแทน

การจดทะเบียนรับรองบุตร

ให้บิดายื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต (กรณีมีภูมิลำเนาในเขตกรุงเทพมหานคร) และต้องได้รับความยินยอมของเด็ก และมารดาเด็กด้วยพร้อมกัน ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอมในการ จดทะเบียนรับรองบุตร หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ เช่น เด็กยังเล็กเกินไปที่จะให้ความยินยอม หรือมารดาเสียชีวิต กรณีนี้การจดทะเบียนรับรองบุตรจะต้องมีคำพิพากษาเสียก่อน จึงนำคำพิพากษาไปจดทะเบียนรับรองบุตรได้ (ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1548) โดยผู้ร้อง (บิดา) เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล หรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล

การยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ

ในการยื่นคำร้องต่อศาล จะต้องยื่นคำร้อง ขอให้ศาลสั่งเป็นบุคคลเสมือนไร้ความ สามารถต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล หรือศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนา

การยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเป็นบุคคลไร้ความสามารถ

ในการยื่นคำร้องต่อศาล จะต้องยื่นคำร้อง ขอให้ศาลสั่งเป็นบุคคลไร้ความสามารถ ต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล หรือศาล ที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล พร้อมด้วย

คดีรับรองบุตรในวันนัดไต่สวนคำร้อง ผู้ร้องจะต้องนำเอกสารตัวจริงและจะต้องพามารดาของบุตรและบุตรมาด้วยหรือไม่

ในวันนัดไต่สวนคำร้องฯ ผู้ร้องจะต้องนำเอกสารตัวจริงมาด้วยและไม่ต้องมีบุตรมาศาล ส่วนมารดาถ้ามีหนังสือยินยอมในสำนวนแล้ว ไม่ต้องมาศาลในวันนัดฯ

เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตร

เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรมีดังนี้ 
1) บัตรประจำตัวประชาชนของบิดา และมารดา พร้อมสำเนา 1 ฉบับ
2) ทะเบียนบ้านบิดา มารดา และบุตร พร้อมสำเนา 1 ฉบับ
3) สูติบัตรบุตร พร้อมสำเนา 1 ฉบับ
4) ใบมรณบัตรมารดา (กรณีมารดาเสียชีวิต) พร้อมสำเนา 1 ฉบับ
5) หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว–ชื่อสกุล ของบิดา มารดา และบุตร (ถ้ามี) พร้อมสำเนา 1 ฉบับ
6) ใบสำคัญการหย่าของมารดา พร้อมสำเนา (กรณีมารดาเคยจดทะเบียนสมรส)

การประกันตัว
การขอรับหลักทรัพย์หรือเงินสดคืนจากศาล

เมื่อคดีถึงที่สุด หรือศาลอนุญาตให้ถอนหลักประกัน หรือสัญญาประกันสิ้นสุดลงด้วยเหตุอื่น ความรับผิดตามสัญญาประกันสิ้นสุดลง ผู้ประกันสามารถขอหลักประกันคืนได้ทันทีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลและแนบหลักฐานใบรับหลักฐานหรือใบรับเงิน ที่ศาลออกให้ขณะที่ทำยื่นคำร้องขอประกันตัว หรือหากไม่สามารถมารับได้ตนเองสามารถมอบอำนาจ/มอบฉันทะให้ผู้อื่นมารับหลักทรัพย์หรือเงินสดแทนได้

 

การยื่นขอประกันตัวต้องดำเนินการอย่างไร

ติดต่อยื่นคำร้องขอประกันได้ที่งานประชาสัมพันธ์ศาลเยาวชนและครอบครัว ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 นาฬิกา หรือยื่นคำร้องขอประกันตัว ผ่านทางระบบออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) โดยไม่ต้องเดินทางมาศาล ตลอด 24 ชั่วโมง

ขอถอนเงินประกันตัวจำเลยโดยการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นใช้เอกสารอะไรบ้าง

การเงินจะทำรายการโอนเงินเข้าธนาคารของนายประกัน เอกสารที่ใช้ในการถอนเงินประกัน เมื่อศาลสั่งคืนหลักประกันประกอบด้วย        
1) ใบเสร็จรับเงินประกันตัว        
2) สำเนาบัตรประชาชนของประกัน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง        
3) สำเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝากของนายประกัน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง        
4) ใบแจ้งความประสงค์การโอนเงิน พร้อมลงลายมือชื่อ (นายประกัน) เป็นผู้ลงลายมือชื่อ
5) หนังสือมอบอำนาจ สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง

ขอถอนเงินประกันตัวจำเลยใช้เอกสารอะไรบ้าง

การเงินจะทำรายการโอนเงินเข้าธนาคารของนายประกัน เอกสารที่ใช้ในการถอนเงินประกันเมื่อศาลสั่งคืนหลักประกัน ประกอบด้วย        
1) ใบเสร็จรับเงินประกันตัว        
2) สำเนาบัตรประชาชนของประกัน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง        
3) สำเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝากของนายประกัน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง        
4) ใบแจ้งความประสงค์การโอนเงินพร้อมลงลายมือชื่อ

ผู้ประกันสามารถถอนเงินประกันได้เมื่อใด

ผู้ประกันสามารถถอนประกันได้ 2 กรณี คือ        
1) เมื่อคดีที่ศาลมีคำสั่งยุติคดี หรือศาลมีคำพิพากษา
2) เมื่อนายประกันนำตัวจำเลยส่งคืนศาล

หลักประกันที่ใช้ในการขอประกันตัวต่อศาล

หลักประกันที่ใช้ในการขอประกันตัวมีดังนี้
1) เงินสด
2) หลักทรัพย์อื่นฯ
- โฉนดที่ดิน น.ส.3 ก น.ส.3 พร้อมหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินออกให้ไม่เกิน 1 เดือน ระวางที่ดิน ภาพถ่ายที่ดิน 
- พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน สลาก ธ.ก.ส พร้อมหนังสือรับรอง
- สมุดบัญชีเงินฝากประจำธนาคาร พร้อมหนังสือรับรองยอดเงินคงเหลือ
- หนังสือค้ำประกันของธนาคาร หนังสือรับรองกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพ
3) ตำแหน่งบุคคล (ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งทนายความ) ต้องแสดงหนังสือรับรองตำแหน่งและเงินเดือนหรือรายได้ต่อเดือน) หรือหลักทรัพย์อื่นตามที่ศาลเห็นสมควรรับพิจารณาเป็นหลักประกัน

หากนายประกันไม่สามารถนำตัวจำเลยส่งศาลได้ตามกำหนดนัดและศาลมีคำสั่งปรับนายประกัน นายประกันจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

นายประกันสามารถนำตัวจำเลยมาส่งต่อศาล และสามารถยื่นคำร้องของดหรือขอลดค่าปรับต่อศาลได้ ทั้งนี้การพิจารณาสั่งงด หรือลดค่าปรับขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล

เอกสารที่ใช้ประกอบในการยื่นขอประกันตัว

เอกสารที่ใช้ประกอบในการยื่นขอประกันตัวมีดังนี้
1) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้ประกัน/ผู้ต้องหาหรือจำเลย 
2) สำเนาทะเบียนบ้านผู้ขอประกันผู้ประกัน/ผู้ต้องหาหรือจำเลย
3) เอกสารการเปลี่ยนชื่อตัว -ชื่อสกุล (ถ้ามี) 
4) ใบสำคัญการสมรส หรือใบหย่า (กรณีผู้ประกันใช้หลักทรัพย์ หรือตำแหน่งบุคคลเป็นหลักประกัน) (ถ้ามี)
5) หนังสือเดินทาง ในกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นชาวต่างชาติ

พิจารณาและพิพากษาคดี
กรณีของกลางถูกริบไปจะได้คืนเมื่อใด

เมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ซึ่งถ้ามีคำสั่งริบของกลาง จำเลยจะต้องแจ้งทนายความให้ยื่นคำร้องขอคืนของกลางเอง แต่ถ้าศาลไม่ได้สั่งริบของกลาง จำเลยสามารถขอคัดถ่ายคำพิพากษาแล้วนำไปยื่นต่อพนักงานอัยการเพื่อออกหนังสือให้ไปรับคืนของกลางที่สถานีตำรวจที่เก็บรักษาของกลางอยู่

กรณีที่คู่ความมีทนายความแล้ว จะให้ทนายความมาศาลโดยคู่ความไม่ต้องมาศาลได้หรือไม่

คดีครอบครัว คู่ความควรมาศาลเพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายประสงค์ให้คู่ความทั้งสองฝ่ายได้เจรจาหรือปรับความเข้าใจกัน ดังนั้น คู่ความจึงควรมาศาลในวันนัดไกล่เกลี่ยเว้นแต่กรณีมีความจำเป็น

กรณีที่ศาลแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้แก่จำเลย จำเลยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้แก่ที่ปรึกษากฎหมายจำเลยหรือไม่

กรณีที่ศาลคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายจำเลย จำเลยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ให้แก่ที่ปรึกษากฎหมาย (เฉพาะชั้นพิจารณาคดีจนถึงศาลมีคำพิพากษา)

กรณีที่แต่งที่ปรึกษากฎหมายจำเลยในชั้นตรวจสอบการจับ จำเป็นต้องใช้ที่ปรึกษากฎหมายชั้นตรวจสอบการจับคนเดิมหรือไม่

จะไม่ใช้ที่ปรึกษากฎหมายเวรตรวจสอบการจับคนเดิม  เนื่องจากในชั้นพิจารณาคดีจะแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายเวรคนใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่

การขอหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด สามารถดำเนินการได้เมื่อใด

สามารถขอหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดได้ (เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์หรือฎีกา) หรือ 30 วัน หลังจากมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง

การจับกุมเยาวชน ตำรวจจะจับกุมเยาวชนโดยไม่มีหมายจับ หรือคำสั่งศาลได้หรือไม่อย่างไร

การจับกุมเยาวชนสามารถจับกุมโดยไม่มีหมายจับได้ ดังนี้
1) เยาวชนได้กระทำความผิดซึ่งหน้า
2) มีพฤติกรรมอันควรสงสัยว่าเยาวชนน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น
3) มีเหตุจะออกหมายจับเยาวชนแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับได้
4) เป็นการจับเยาวชนที่หนีหรือจะหลบหนีระหว่างถูกปล่อยชั่วคราว

การพิจารณาคดีเป็นการลับมีบุคคลใด สามารถเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาได้บ้าง

บุคคลที่สามารถเข้ารังฟังการพิจารณาคดีในห้องพิจารณาคดี จะมีบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่สามารถเข้ารับฟังการพิจารณาคดีได้ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 108

การยื่นขอสืบพยานผ่านระบบออนไลน์ยื่น สามารถยื่นโดยวิธีใดได้บ้าง

สามารถยื่นคำร้องที่ศาล และยื่นคำร้องผ่านระบบ CIOS ได้

การเตรียมตัว และข้อปฏิบัติในการเข้าห้องพิจารณาคดี ต้องทำอย่างไรบ้าง

ข้อปฏิบัติขณะอยู่ในห้องพิจารณาคดี มีดังนี้
1) ห้ามใช้เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดในห้องพิจารณาคดี
2) แต่งตั้งให้สุภาพเรียบร้อย 
3) กรณีนั่ง ต้องนั่งให้สุภาพเรียบร้อย ไม่ไขว่ห้าง 
4) ห้ามส่งเสียงดังรบกวนกระบวนพิจารณา
5) ห้ามถ่ายภาพ หรือบันทึกภาพหรือเสียงในห้องพิจารณาโดยเด็ดขาด (หากมีการกระทำดังกล่าวถือว่าละเมิดอำนาจศาล)

คดีแพ่งที่มีผู้เยาว์มีส่วนได้เสียก่อนถึงวันนัดไต่สวนคำร้องหรือนัดพร้อม หากไม่ไปให้ถ้อยคำกับผู้อำนวยการสถานพินิจมีผลอย่างไร

หากผู้ร้องหรือโจทก์ ไม่ไปให้ถ้อยคำกับผู้อำนวยการสถานพินิจก่อนวันนัดไต่สวนคำร้องหรือสืบพยานโจทก์ เมื่อถึงวันนัดศาลไม่อาจดำเนินกระบวนได้ ศาลอาจมีให้เลื่อนคดีเพื่อไปให้ถ้อยคำกับผู้อำนวยการสถานพินิจก่อน หรืออาจมีคำสั่งทิ้งคำร้อง หรือคำฟ้องแล้วแต่ดุลพินิจศาล

คู่ความไม่มีทนายความจะขอให้ศาลแต่งตั้งทนายความให้ได้หรือไม่

ในกรณีคู่ความไม่มีทนายความ จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลแต่งตั้งทนายความให้ก็ได้แต่เป็นดุลพินิจของศาลที่จะแต่งตั้งให้หรือไม่

ทนายขอแรง ทนายคดีครอบครัว

ในคดีครอบครัว กรณีที่คู่ความไม่มีทนายความ จะขอให้ศาลแต่งตั้งให้ก็ได้ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 158

หลังจากการพิจารณาคดีเสร็จสิ้น สามารถดำเนินการขอคัดถ่ายคำพิพากษาหรือคำสั่งได้เมื่อใด

สามารถดำเนินการขอคัดถ่ายคำพิพากษาหรือคำสั่ง ได้ภายใน 15 วันทำการหลังจากคดีเสร็จสิ้นการพิจารณา

หากคู่ความประสงค์จะพิจารณาคดีทางระบบออนไลน์จะต้องมีข้อปฏิบัติในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในระบบออนไลน์ ระหว่างศาลกับคู่ความอย่างไร

ข้อปฏิบัติมีดังนี้
1) คู่ความที่เกี่ยวข้องในคดีนี้สามารถยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีทางระบบออนไลน์ 
2) ต้องแสดงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนโดยแบบท้ายคำร้องข้อ 1
3) ในคำร้องข้อ 1. ต้องระบุ อีเมล์ id ไลน์ ของคู่วามที่จะพิจารณามาในคำร้องข้อ 1

หากคู่ความไม่ประสงค์มีทนายความได้หรือไม่

หากคู่ความเห็นว่าคดีสามารถตกลงกันได้จะไม่มีทนายความก็ได้เพราะการมีทนายความจำเป็นสำหรับการต่อสู้คดี

หากจะลบประวัติอาชญากร กรณีศาลมีคำสั่งยุติคดี ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 90 หรือ มาตรา 132 ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง

จำเลยไม่ต้องดำเนินการอื่นใด เนื่องจากศาลจะมีหนังสือถึงสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่เกิดเหตุ และกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อลบประวัติอยู่แล้ว

หากจะลบประวัติอาชญากรกรณีศาลมีคำพิพากษา ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง

เมื่อศาลมีคำพิพากษาและคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ดำเนินการขอคัดถ่ายคำพิพากษาและขอหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด เพื่อไปดำเนินการลบประวัติที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

หากนายประกัน ประสงค์ที่จะส่งตัวเยาวชนต่อศาลต้องทำอย่างไร

นายประกันสามารถนำตัวเยาวชนมาศาลโดยนายประกันดำเนินการยื่น คำร้องขอส่งตัวจำเลยส่งคืนต่อศาล

ห้องพิจารณาคดีออนไลน์

ดูรายละเอียดได้ที่ ห้องพิจารณาคดีออนไลน์

เมื่อจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งศาลเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

กรณีจำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว
เช่น ศาลสั่งให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งศาลครบถ้วนแล้ว จำเลยสามารถเขียนคำร้องขอคัดถ่าย คำพิพากษา และขอหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด เพื่อนำไปดำเนินการขอลบทะเบียนประวัติอาชญากรได้ฯ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ในคดีอาญาหากจำเลยไม่ต้องการที่ปรึกษากฎหมายของศาลที่ศาลแต่ตั้งให้ สามารถทำได้หรือไม่ อย่างไร

หากจำเลยไม่ต้องการที่ปรึกษากฎหมายที่แต่งตั้งโดยศาล  จำเลยสามารถหาที่ปรึกษากฎหมายเองได้  แต่ที่ปรึกษากฎหมายจะต้องขึ้นทะเบียนของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ซึ่งผ่านการอบรมมาแล้วฯ

ความรุนแรงในครอบครัว
วิธียื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพ

มีขั้นตองดังนี้
1) ยื่นคำร้องขอเป็นหนังสือต่อศาล
2) แถลงด้วยวาจา

ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ

1) ศาลเยาวชนและครอบครัวที่ผู้เสียหาย (ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง หรือเด็ก) มีถิ่นที่อยู่ หรือ มีภูมิลำเนา  
2) ศาลเยาวชนและครอบครัวที่มูลคดีเกิด

ไกล่เกลี่ยคดีครอบครัว
การทำสัญญาประนีประนอมยอมความ

ในกรณีที่ไกล่เกลี่ยประนีประนอมเป็นผลสำเร็จ ผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวจะจัดให้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นแล้วรายงานศาลให้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวต่อไป แต่ถ้าประนีประนอมสำเร็จเพียงบางประเด็นและคู่ความประสงค์จะให้ประเด็นดังกล่าวเสร็จไปโดยการประนีประนอมยอมความก็ต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความในข้อที่สำเร็จนั้นไว้ แล้วรอพิพากษาพร้อมกันในประเด็นข้อพิพาทที่ไม่สำเร็จ

การไกล่เกลี่ยออนไลน์มีวิธีการอย่างไร

คู่ความที่มีความประสงค์จะไกล่เกลี่ยทางออนไลน์โดยไม่ต้องเดินทางมาศาล สามารถยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ (ไกล่เกลี่ยออนไลน์) ได้ทางระบบ CIOS  อย่างน้อย 3 วัน ก่อนวันนัด ซึ่งในการไกล่เกลี่ยออนไลน์จะใช้ระบบ Google Meet หรือผ่านโปรแกรม ZOOM

คดีครอบครัวต้องไกล่เกลี่ยทุกคดีหรือไม่

คดีครอบครัวที่มีข้อพิพาทก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลตั้งผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวเพื่อไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ประนีประนอมกัน ดังนั้น คดีครอบครัวที่มีข้อพิพาทจึงต้องผ่านการไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาทก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาพิพากษาคดี

คดีครอบครัวที่มีข้อพิพาทที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยประนีประนอมมีคดีอะไรบ้าง

คดีที่เริ่มต้นจากคำฟ้องถือเป็นคดีที่มีข้อพิพาทเสมอ ส่วนคดีที่เริ่มต้นจากคำร้องหากต่อมามีผู้คัดค้านย่อมถือว่าเป็นคดีครอบครัวที่มีข้อพิพาทแล้ว จึงต้องเข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยและประนีประนอมข้อพิพาทคดีครอบครัว

ช่องทางในการยื่นขอไกล่เกลี่ย

สามารถยื่นผ่านช่องทางได้ดังนี้
1) ยื่นด้วยตนเอง ณ ศูนย์ไกล่เกลี่ยประจำศาล
2) ยื่นทางไปรษณีย์หรือโทรสาร
3) ยื่นผ่านระบบริการข้อมูลคดีออนไลน์ (CIOS)
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ข้อมูลไกล่เกลี่ย

เมื่อศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว สามารถขอคืนค่าขึ้นศาลได้หรือไม่

เมื่อศาลพิพากษาตามยอมแล้ว ศาลอาจจะคืนค่าขึ้นศาลเป็นกรณีพิเศษ โดยหากเป็นคดีที่ยังไม่มีการสืบพยานให้คืน 7 ใน 8 ส่วน หากสืบพยานไปบ้างแล้วหรือกรณีคู่ความถอนฟ้องศาลจะมีค่าขึ้นศาล 3 ใน 4 ส่วน ทั้งนี้ เป็นดุลพินิจของศาลในการพิจารณาขอคืนค่าขึ้นศาล

เมื่อศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว คู่ความอีกฝ่ายไม่ปฎิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความจะต้องทำอย่างไร

หากคู่ความฝ่ายที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวคู่ความอีกฝ่ายสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีได้ ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติของคดีครอบครัวศาลจะออกหมายเรียกเพื่อสอบถามถึงสาเหตุของการไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความก่อนที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป

ไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้วแต่ไม่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในวันนั้น ได้หรือไม่

หากประนีประนอมยอมความสำเร็จกันแล้วทุกประเด็นแต่ยังไม่ขอทำสัญญาประนีประนอมยอมความอาจเป็นเพราะตัวความยังไม่มาศาลหรืออาจต้องปรึกษากันเองอีกครั้งเพื่อความรอบคอบ คู่ความจะนัดกันมาทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในวันหลังก็ได้ หรืออาจจะขอให้ศาลเรียกคู่ความมาทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาลก็ได้

ศูนย์ให้คำปรึกษา
การเข้ารับคำปรึกษาสามารถให้ใครมาเป็นผู้ปกครองแทนได้ จำเป็นต้องเป็นนายประกันทุกครั้งหรือไม่

บุคคลที่พักอาศัยอยู่กับเยาวชน มีความเกี่ยวข้องเป็นญาติ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือหัวหน้างานที่เยาวชนพักอาศัยอยู่ด้วย เป็นต้น ที่มีความใกล้ชิดและทราบถึงพฤติกรรมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของเยาวชน

การเข้ารับคำปรึกษาในแต่ละครั้งจะต้องใช้ระยะเวลานานเท่าไร

การให้คำปรึกษารายบุคคลแต่ละครั้ง ใช้เวลาประมาณ 45-50 นาที

แบ่งเป็น 2 บัตร
- บัตรสีเหลือง กรณีเด็กก่อนฟ้อง (ม.73) ใช้เวลาในการมารับการปรึกษาประมาณ 4 ครั้งๆ ละ 1 เดือน จึงยุติการปรึกษาฯ
- บัตรสีฟ้า กรณีอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี (ม.90,132) ใช้เวลาในการนัดตั้งแต่เริ่มจนจบการปฏิบัติตามเงื่อนไขของแผนฯ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูฯ

ติดต่อศูนย์ให้คำปรึกษา

เบอร์โทรติดต่อ 0362210999

ศูนย์ให้คำปรึกษาเพื่อแนะนำช่วยเหลือผู้เสียหายและครอบครัว มีประโยชน์อย่างไร

เป็นศูนย์ฯที่ให้บริการให้คำปรึกษาช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายและครอบครัว ในเรื่องสิทธิหน้าที่และการเยียวยาที่ผู้เสียหายที่พึงได้รับตามกฎหมายจากภาครัฐ หน่วยงานอื่น และจากผู้ต้องหาหรือจำเลย

ศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำและประสานการประชุมเพื่อแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เด็ก เยาวชน และครอบครัว มีหน้าที่ทำอะไร

เป็นศูนย์ที่จัดทำแผนแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เด็กหรือเยาวชน รวมทั้งการสร้างระบบเครือข่ายและการส่งต่อผู้มีปัญหาด้านพฤติกรรม ยาเสพติดและจิตเวชไปยังหน่วยงานที่เหมาะสม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือสนับสนุนเด็กหรือเยาวชน ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดและเข้าสู่กระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีศาลเยาวชนและครอบครัว

หากบัตรนัดของศูนย์ให้คำปรึกษาสูญหายควรทำอย่างไร

ให้ผู้ปกครองติดต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ปรึกษาเพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ออกบัตรนัดให้ใหม่

หากเด็กหรือเยาวชน และผู้ปกครองหลงลืมวันนัดจะทำอย่างไร

ให้ผู้ปกครองหรือเยาวชนติดต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ให้คำปรึกษาโดยเร็วที่สุด

เอกสารที่ต้องใช้ในการเข้ารับคำปรึกษามีอะไรบ้าง

เอกสารที่ต้องใช้มีดังนี้
1) บัตรนัดศูนย์ให้คำปรึกษา (บัตรนัดสีเหลือง)
2) บัตรประจำตัวประชาชน เยาวชนและผู้ปกครอง

การเงิน
กรณียื่นคำร้องขอรับเงินจากศาล เช่น ค่าขึ้นศาล ค่าเสียหาย ค่าธรรมเนียมใช้แทนค่าส่งคำคู่ความ เป็นต้น ใช้เอกสารอะไรบ้าง

การเงินจะทำรายการโอนเงินเข้าธนาคารของผู้มีสิทธิรับเงิน เอกสารที่ใช้ในการขอรับเงิน เมื่อศาลสั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิรับเงิน ประกอบด้วย        
1) สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับเงิน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง        
2) สำเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝากของผู้มีสิทธิรับเงิน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง        
3) ใบแจ้งความประสงค์การโอนเงินพร้อมลงลายมือชื่อ        
4) หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรผู้มอบอำนาจ และสำเนาบัตรผู้รับมอบอำนาจพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง

กรณีไม่มีเงินชำระค่าปรับ / ค่าเสียหาย แต่มีเงินวางประกันตัวไว้ จะใช้เงินจำนวนนั้นเสียค่าปรับ / ค่าเสียหายได้หรือไม่

กรณีศาลพิพากษาปรับจำเลย แต่ไม่มีเงินสามารถใช้เงินวางประกัน เป็นค่าปรับ / ค่าเสียหายได้ โดยนายประกันยื่นคำร้องต่อศาลขอใช้เงินวางประกัน เป็นค่าปรับจำเลยหรือ จ่ายเป็นค่าเสียหาย ส่วนเงินที่เหลือจะคืนให้แก่นายประกัน

การชำระเงินให้แก่ศาลสามารถโอนผ่านธนาคารได้หรือไม่ หากไม่สะดวกเดินทางมาศาล

ช่องทางการชำระเงินให้แก่ศาล เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนสามารถทราบการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำให้      
สะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยผ่านช่องทางการทำรายการผ่านเครื่อง EDC (ชำระเงินผ่าน QR Code ของธนาคาร)           
รายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ส่วนงานคลัง 

การนำเงินมาวางศาลเป็นเช็ค ระบุหน้าเช็คอย่างไร

กรณีจ่ายเงินเป็นเช็ค ให้ระบุชื่อศาลเยาวชนและครอบครัว        
จำนวนเงินในเช็คจะต้องไม่เกินจำนวนเงินที่ต้องวางต่อศาล

คำนวณค่าธรรมเนียมศาลคำฟ้อง

แบ่งเป็น 2 แบบคือ 
- คดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท ค่าธรรมเนียม 1,000 บาท 
- คดีมีทุนทรัพย์เกิน 300,000 บาท คิดค่าธรรมเนียม 2%

คำนวณค่าธรรมเนียมศาลคำร้อง

ค่าธรรมเนียมเรื่องละ 200 บาท

คำนวณอัตราค่านำหมาย

สามารถตรวจสอบอัตราค่านำหมายได้จากระบบอัตราค่านำหมาย ที่ ระบบอัตราค่านำหมาย
หรือประกาศศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสระบุรี เรื่อง กำหนดอัตราค่าพาหนะและค่าป่วยการในการส่งคำคู่ความและเอกสารในคดี ที่ รายละเอียดประกาศ
ทั้งนี้อัตราค่านำหมายจะคำนวณตามระยะทางในแต่ละท้องที่ 

ค่าที่ปรึกษากฎหมายกรณีนั่งเวรชี้หรือนั่งเวรพิจารณาจะได้รับเงินเมื่อใด

ศาลจะจ่ายเงินค่าที่ปรึกษากฎหมายกรณีนั่งเวรชี้ หรือนั่งเวรพิจารณาในเดือนถัดไป

ค่าที่ปรึกษากฎหมายรายคดีจะได้รับเงินเมื่อใด

ภายใน 3 วัน นับแต่ศาลมีคำสั่งให้จ่ายเงิน

ยื่นคำร้องขอรับเงินคืนจากศาล จะได้รับเงินเมื่อไหร่จะได้รับเงินเมื่อไหร่

ศาลจะจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิรับเงินโดยเร็วแต่ไม่เกิน 10 วันทำการ นับแต่ศาลสั่งอนุญาตให้คืนเงิน

บริการด้านเอกสาร
การขอคัดถ่ายเอกสาร

ช่องทางการติดต่อขอรับ
1) ยื่นคำร้อง ณ ศาลเยาวชนและครอบครัว ติดต่อเจ้าหน้าที่ส่วนงานบริการประชาชนและประชาสัมพันธ์
2) ยื่นคำร้องผ่านระบบบริการข้อมูลคดีออนไลน์ (CIOS)

การขอหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด

สามารถขอหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดได้ (เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์หรือฎีกา) หรือ 30 วัน หลังจากมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยยื่นคำร้อง ณ ศาลเยาวชนและครอบครัว
 

ขั้นตอนการขอคัดถ่ายเอกสาร

กรณียื่นคำร้อง ณ ศาลเยาวชนและครอบครัว ติดต่อเจ้าหน้าที่ส่วนงานบริการประชาชนและประชาสัมพันธ์
1) เขียนคำร้องในแบบฟอร์มขอคัดถ่ายเอกสาร
2) ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบคำร้อง และคำสั่งศาลที่อนุญาตไว้หน้าสำนวน
3) ถ้าเป็นเอกสารที่ขอคัดถ่ายเอกสารได้ เจ้าหน้าที่ดำเนินการคัดถ่ายเอกสาร โดยมีค่าธรรมเนียมดังนี้
- ค่ารับรองสำเนาเอกสาร ฉบับละ 50 บาท
- ค่าคัดถ่ายเอกสาร หน้าละ 2 บาท

กรณียื่นคำร้องผ่านระบบบริการข้อมูลคดีออนไลน์ (CIOS)
1) ยื่นคำร้องขอคัดถ่ายเอกสารในระบบ
2) เจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบคำร้อง และคำสั่งศาลที่อนุญาตไว้หน้าสำนวน
3) แจ้งผลการตรวจสอบ และนับเอกสารเพื่อคำนวณค่าใช้จ่าย และแจ้งกลับไปยังผู้ร้อง
4) กรณีขอรับเอกสารด้วยตนเองและทางไปรษณีย์ ผู้ยื่นคำร้องชำระเงิน โดยมีค่าธรรมเนียมดังนี้
- ค่าธรรมเนียมคัดถ่ายเอกสาร 50 บาท
- ค่ารับรองสำเนาเอกสาร ฉบับละ 50 บาท
- ค่าคัดถ่ายเอกสาร หน้าละ 3 บาท
- ค่าไปรษณีย์ 50 บาท  (กรณีขอรับเอกสารทางไปรษณีย์)
** กรณีขอรับเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่มีค่าธรรมเนียม เมื่อเจ้าหน้าที่เลือกไฟล์ในระบบ จะสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้
5) กรณีขอรับเอกสารด้วยตนเองและทางไปรษณีย์ หลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการชำระเงิน จะออกใบเสร็จรับเงิน ดำเนินการคัดถ่ายเอกสาร และแจ้งวันรับนัดเอกสาร / ส่งเอกสารทางไปรษณีย์ พร้อมแจ้งหมายเลขพัสดุทางไปรษณีย์

ขั้นตอนการขอหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด

ขั้นตอนการยื่นคำร้อง ณ ศาลเยาวชนและครอบครัว 
1) เขียนคำร้องในแบบฟอร์มขอคัดถ่ายเอกสาร
2) ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบคำร้อง และคำสั่งศาลที่อนุญาตไว้หน้าสำนวน
3) ถ้าเป็นเอกสารที่ขอคัดถ่ายเอกสารได้ เจ้าหน้าที่ดำเนินการคัดถ่ายเอกสาร โดยมีค่าธรรมเนียมดังนี้
- ค่าใบสำคัญรับรองคดีถึงที่สุด ฉบับละ 50 บาท (กรณีออกหนังสือฉบับใหม่ )
- ค่ารับรองสำเนาเอกสาร ฉบับละ 50 บาท (กรณีสำเนาหนังสือ)

เอกสารที่ใช้ประกอบการขอคัดถ่ายเอกสาร

1) บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้อง
2) แบบฟอร์มคำร้องขอคัดถ่ายเอกสาร

เอกสารที่ใช้ประกอบการขอหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด

1) บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้อง
2) แบบฟอร์มคำร้องขอหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด

บริการให้คำปรึกษาทางคดี
ช่องทางการขอรับคำปรึกษาทางคดี

สามารถปรึกษาตามช่องทางที่สะดวก โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ดังนี้
1) ติดต่อเจ้าหน้าที่ด้วยตนเอง ณ ศาลเยาวชนและครอบครัว
2) ติดต่อทางโทรศัพท์ เบอร์โทร. 0362210999
3) ลงทะเบียนผ่านระบบนัดให้คำปรึกษาบนปฏิทินออนไลน์ ดูขั้นตอนที่ ขั้นตอนการขอรับคำปรึกษา

ประเภทคดีที่สามารถขอรับคำปรึกษา

คดีแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว

1) คดีแพ่งที่เป็นไปตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว ทั้งหมด เช่น การหมั้น และการผิดสัญญาหมั้น การสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา การสิ้นสุดแห่งการสมรส การขอแบ่งสินสมรส การฟ้องหย่า การจดทะเบียนสมรสซ้อนเป็นโมฆะ อำนาจปกครองบุตร การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู การขอตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ การเปลี่ยนหรือถอนผู้ใช้อำนาจปกครอง การขอให้ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร การขอรับบุตรบุญธรรม และการขอเลิกรับบุตรบุญธรรม

2) คดีแพ่งเกี่ยวกับผู้เยาว์ในส่วนที่เกี่ยวกับความสามารถหรือสิทธิ์ของผู้เยาว์และคดีเกี่ยวกับความสามารถของบุคคลในครอบครัว เช่น การขอให้ศาลสั่งผู้เยาว์หรือบุคคลบรรลุนิติภาวะแล้วเป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาล รวมถึงการขอให้ศาลสั่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและตั้งผู้พิทักษ์ด้วย

3) คดีแพ่งบางเรื่องที่เกี่ยวกับผู้เยาว์ในส่วนที่เกี่ยวกับมรดก เช่น การขอให้ศาลตั้งผู้ปกครองในกรณีที่ผู้เยาว์ซึ่งได้รับมรดกตกทอดยังไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม การขอให้ศาลตั้งผู้ปกครองทรัพย์ในกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะยกทรัพย์สินให้แก่ผู้เยาว์ระหว่างที่ยังเป็นผู้เยาว์